น้ำผึ้งไม่มีวันเสีย (จริงหรือ?)

น้ำผึ้งไม่มีวันเสีย (จริงหรือ?)

การถนอมอาหารด้วยวิธีที่แตกต่างของผึ้งและชันโรง🐝

 

หลายครั้งที่เราได้เห็นการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำผึ้ง หรือบทความออนไลน์ว่าด้วยเรื่องสรรพคุณและคุณสมบัติของน้ำผึ้งอันหลากหลายต่างๆนาๆ หลายๆ ท่านน่าจะเคยผ่านตามาบ้างว่า น้ำผึ้งนั้น ไม่มีวันหมดอายุ แต่มักจะมีไม่มากที่อธิบายถึงเหตุผลของอายุที่ยืนยาวประหนึ่งแวมไพร์ของน้ำผึ้ง ที่ถ้าไม่โดนแสงโดยน้ำมนต์หรือลิ่มปักอกก็คงไม่ตาย

 

อันที่จริงมันก็คงมิได้ต่างจากแวมไพร์มาก ที่ถ้าไม่เจอสาเหตุจำเพาะบางชนิด ก็เป็นเรื่องถูกต้องถ้าจะบอกว่าน้ำผึ้งไม่มีวันหมดอายุ แต่สำหรับบางคนอาจจะได้เจอประสบการณ์น้ำผึ้งเสียหรือขึ้นรามาแล้วกับตัวเองทั้งที่น้ำผึ้งนั้นจะมั่นใจได้ว่าเป็นน้ำผึ้งแท้ ไม่มีน้ำตาลผสมแต่อย่างใด เราจึงอยากมาเล่าให้ฟังถึงปัจจัยที่ทำให้ผึ้งเก็บน้ำผึ้งได้นานๆและสาเหตุที่ทำให้น้ำผึ้งในมือของผู้บริโภคอย่างเราๆหมดอายุ

 

ผึ้งและชันโรงเป็นสัตว์ที่มีนิสัยในการสะสมอาหารไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีที่ให้เก็บ มีความขยันสูงและไม่รู้จักคำว่าพอ #ไอ้โลภ พวกเขาทั้งหลายเลยต้องมีวิธีในการทำให้สิ่งที่เขาเก็บสะสมไว้ไม่เสียง่ายๆ และวิธีหนึ่งในนั้นมาการที่ผึ้งและชันโรงเปลี่ยนน้ำหวานจากดอกไม้ให้กลายเป็นน้ำผึ้ง ซึ่งก็คือการดูดน้ำหวานจากดอกไม้มาไว้ที่กระเพาะก่อนเอาไปเก็บที่รัง ซึ่งแบคทีเรียและจุลินทรีย์อื่นๆจำนวนมากมายในกระเพาะของผึ้งนั่นเอง เป็นตัวสร้างคุณสมบัติต่อต้านเชื้อโรคและแบคทีเรียตัวร้ายจากภายนอกรวมถึงช่วยลดความชื้นที่มาจากน้ำหวาน ทำให้น้ำผึ้งมีลักษณะที่ข้นกว่าน้ำหวานดอกไม้ และไอ้แบคทีเรียหรือเชื้อราบางตัวที่สามารถเติบโตได้ในที่ชื้นสูงและเป็นตัวทำให้น้ำผึ้งเสีย ไม่สามารถเติบโตได้อีกด้วย

 

ปัจจัยต่อมาที่ผึ้งใช้ในการถนอมอาหาร คือการลดความชื้นภายในรังด้วยการกระพือปีก อยู่หน้าทางเข้ารังเพือทำหน้าที่เหมือนพัดลมดูดอากาศระบายความชื้น พฤติกรรมนี้ทำให้ความชื้นในน้ำผึ้งลดลงไปอีกและเมื่อถึงความชื้นที่เหมาะสม ผึ้งจะทำการปิดเซลล์น้ำผึ้งด้วยไขผึ้งเหมือนกับการซีลเก็บอาหารทันทีเพื่อไม่ให้ความชื้นเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้น้ำผึ้งชันโรงต่างจากของผึ้งทั่วไป เพราะชันโรงโดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ตัวเล็กไม่ได้มีปีกที่ใหญ่พอให้พัดความชื้นให้ลดลงได้ น้ำผึ้งชันโรงถึงมีความเข้มข้นได้ถึงแค่ในระดับหนึ่งเมื่อเก็บใหม่ๆจากรังและไม่เหนียวข้นได้เท่าผึ้งอื่นๆในฤดูกาลเดียวกัน

 

หมายความว่าน้ำผึ้งชันโรงเสียได้ง่ายกว่าน้ำผึ้งหรือเปล่า? ถ้าเทียบในสิ่งแวดล้อมเดียวกันและปัจจัยเหมือนๆ กันก็คงต้องบอกว่าไม่ เพราะชันโรงมีวิธีการถนอมอาหารที่ต่างจากผึ้งเล็กน้อย น้ำผึ้งที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆในกระเพาะของชันโรงนั้นจะมีความเป็นกรดมากกว่า ทำให้แบคทีเรียเติบโตได้ยากและนำไปใส่ในถ้วยน้ำหวานทำมาจากชัน(propolis) ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ลักษณะคล้ายกับการถนอมอาหารด้วยการหมักบ่ม ต่างจากผึ้งที่ถนอมอาหารด้วยการลดความชื้นอย่างเต็มที่ จึงไม่ต้องแปลกใจที่เวลาเราบริโภคน้ำผึ้งชันโรง เราจะได้รสชาติที่เปรี้ยวและอาจได้กลิ่นหมักบ่มเล็กน้อยแตกต่างกันไปตามพืชอาหารที่ชันโรงไปเก็บมา

 

มาถึงตรงนี้เราจะสามารถสรุปได้ว่าน้ำผึ้งทุกชนิด ถ้าเราเก็บถูกวิธีและเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและบรรจุที่ถูกต้อง ไม่ให้มีความชื้นมากเกินความจำเป็น มีความสะอาด และยับยั้งกระบวนการของจุลินทรีย์ไม่ให้เกิดการเติบโตมากเกินไป ที่อาจก่อให้เกิดกลิ่นหมักอันไม่พึงประสงค์เราสามารถมีดื่มได้เป็นระยะเวลานานอย่างไม่ต้องกังวล (โดยเฉพาะน้ำผึ้งที่มีค่าความชื้นต่ำมากๆ)  และแถมด้วยเกร็ดข้อมูลเล็กๆน้อยๆว่าในกฎหมายอาหารในบางประเทศ ไม่อนุญาติให้ขาย “น้ำผึ้ง” ถ้ามีการหมักและมีความชื้นที่มากเกินไปด้วยนะ ทำให้น้ำผึ้งเหล่านั้นสามารถเก็บไว้ได้ตลอดชั่วอายุคนโดยไม่ต้องกลัวเสียเลยทีเดียว

 

สุดท้ายนี้ ถึงแม้เราจะมั่นใจได้ว่าน้ำผึ้งของเรานั้นไม่ว่าจากผึ้งชนิดไหน สามารถเก็บได้ตราบนานเท่านาน ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพของน้ำผึ้งนั้นๆจะคงอยู่นานเท่าอายุของมัน เพราะคุณประโยชน์ทั้งหลายที่ถูกนำพามาโดยจุลินทรีย์ในท้องผึ้งและพืชอาหารอันมีประโยชน์ที่ผึ้งไปเก็บสะสมมาอย่างเข้มข้น จะค่อยๆลดลงตามการเวลา จนเหลือแค่น้ำตาลที่ให้ประโยชน์ในเชิงพลังงานในท้ายที่สุด เราจึงอยากแนะนำไม่ให้เก็บน้ำผึ้งนานจนเกินไป เพราะอย่างไรก็ตามตราบใดที่เรายังอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ ส่งเสริมระบบนิเวศที่สมบูรณ์อันมีผึ้งทุกชนิดเป็นส่วนประกอบ เราก็จะมีโอกาสได้กินน้ำผึ้งคุณภาพสูงกันต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเก็บสะสมเหมือนที่ผึ้งสะสมอาหารเลยแม้แต่น้อย

บทความอื่นๆที่น่าสนใจ