ถ้าใครได้มาเยี่ยมเยียนสมดุลในช่วงนี้ อาจจะได้เห็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ของสมดุลในรูปแบบกระป๋องอลูมิเนียม ซึ่งเราจะใช้ในการบรรจุเครื่องดื่มเย็นที่ทำเสร็จสดใหม่และนำเข้าเครื่องปิดฝาพร้อมเสิร์ฟให้ลูกค้าที่มิได้นั่งกินที่ร้าน (หรืออาจจะเมื่อล้างแก้วไม่ทันในบางครั้ง)
วันนี้เราจะมาเล่าถึงเหตุผลในการเปลี่ยนจากแก้วพลาสติกย่อยสลายได้PLA มาเป็นอลูมิเนียมกันครับ พร้อมอธิบายข้อดีขอเสียให้เพื่อนๆ สมดุลได้รับรู้ไปพร้อมๆ กันโดยเริ่มจากข้อดีเสียแบบรวบรัดของวัสดุใช้แล้วทิ้ง (single use) แต่ละชนิดที่มักนิยมใช้กันในร้านก่อนเลย
พลาติก (แก้ว PET,PE, PP, PS, PVC, และ Bio-PET)
วัสดุที่นิยมใช้มากที่สุดในแก้ว take away เนื่องจากมีราคาทุนที่ถูก จัดเก็บสะดวก เก็บได้นาน ความแข็งแรงเป็นไปตามคุณภาพและประเภทของพลาสติก บางประเภทถ้าทำความสะอาด และคัดแยกถูกวิธีสามารถนำไปรีไซเคิลได้ หากแต่ว่าการจัดการขยะในชุมชนของเราหลายๆชุมชนนั้น เป็นเรื่องยากมากที่จะถูกรีไซเคิล และมันจะไปจบที่หลุมฝังกลบ และด้วยความที่ใช้เวลาเกินชั่วอายุคนในการย่อยสลาย ทำให้มีโอกาสสูงที่จะปนเปื้อน และกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อระบบนิเวศ ทางเลือกที่ดีที่สุดในการกำจัดคือส่งไปโรงงานเผาขยะเพื่อเป็นพลังงานเชื้อเพลิงโดยเทคโนโลยีที่ลดการก่อมลภาวะ เช่น โครงการN15
**พลาสติกบางชนิดเช่น Bio-PET ใช้วัตถุดิบจากพืชเข้ามาผสมทำให้ใช้เมล็ดพลาสติกน้อยลงและยังสามารถรีไซเคิลได้ ทำให้อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าพลาสติกอื่น อย่างไรก็ตามพลาสติกประเภทนี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และสามารถกลายเป็นไมโครพลาสติกได้ถ้าไม่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี แต่เมื่อมีคำว่า Bio นำหน้าผู้บริโภคมักจะเข้าใจผิดและผู้ผลิตบางรายอาจจะใช้ช่องทางนี้ในการทำกำไรแบบมักง่าย จึงเป็นเรื่องที่ควรระวังเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม
Bio plastic (PLA)
พลาสติกที่ถูกสร้างมาจากพืชเกษตรและสามารถย่อยสลายได้ในสภาวะที่เหมาะสม เป็นวัสดุที่ดีกว่าพลาสติกในเชิงการปนเปื้อนเนื่องจากสามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด แต่ด้วยความที่ส่วนมากเป็น industrial compose ต้องย่อยสลายในสภาวะควบคุมถึงจะย่อยได้อย่ารวดเร็ว มิเช่นนั้นอาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี ในการย่อยในสิ่งแวดล้อมทั่วไป อีกทั้งยังมีราคาต้นทุนที่แพงกว่าพลาสติกปกติ ทำให้การตัดสินใจเลือกใช้ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิต PLA ที่ได้มาตรฐาน มีความจริงใจและตรวจสอบได้ว่าจะไม่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติกที่อันตรายต่อระบบนิเวศและสุขภาพจะต้องได้มาตรฐาน มอก.17088-2555 หรือมาตรฐานสากล ISO 17088, EN 13432 หรือ ASTM D6400 ซึ่งกำหนดนิยาม พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable) ไว้อย่างชัดเจนว่า “พลาสติกที่เมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารประกอบอนินทรีย์ มวลชีวภาพ และต้องไม่ทิ้งสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งแปลกปลอม หรือสารพิษหลงเหลือไว้”
พลาสติกอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในสองจำพวกข้างต้น
มีความเป็นไปได้สูงว่าอาจจะเป็น oxo-biodegradable แม้จะมีหรือไม่มีเขียนไว้ก็ตาม ซึ่งเป็นพลาสติกที่เปราะบางแตกตัวได้ง่ายเหมือนจะย่อยได้ แต่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และไม่สามารถย่อยสลายได้จริง ก่อให้เกิดไมโครพลาสติกปนเปื้อนและก่อสารพิษได้ง่ายที่สุด ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการร้านจึงต้องตรวจสอบอย่างเคร่งครัดว่าพลาสติกที่ใช้เป็นประเภทใดและมีมาตรฐานการย่อย “ที่ถูกต้อง” รับรองหรือไม่
กระดาษ
วัสดุที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดว่าสามารถย่อยสลายได้ง่ายตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามบรรจุภัณฑ์กระดาษหลายชนิดอาจจะเคลือบพลาสติกเอาไว้เพื่อกันซึม เราถึงควรตรวจสอบด้วยเช่นกันว่าพลาสติกที่เคลือบ (หรือผาปิดพลาสติก) เป็นประเภทที่ย่อยได้จริงหรือไม่เพื่อการคัดแยกที่ถูกวิธี
อลูมิเนียม
เทรนใหม่มาแรงในเรื่องบรรจุภัณฑ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากสามารถรีไซเคิลได้ 100% และมีราคาเก็บขายรีไซเคิลที่ค่อนข้างสูง (กระป๋องละเกือบบาท) หมายความว่าเมื่อแยกออกมารวมกันสามารถขายได้และต่อให้ตกหล่นตามที่สาธารณะจะมีโอกาสโดนเก็บที่สูงมาก (เนื่องจากคนส่วนมากรู้มูลค่า) ทำให้ดูเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามอลูมิเนียมมีราคาต้นทุนที่สูงเทียบเท่ากับพลาสติก PLA และถูกสร้างจากการทำเหมืองถลุงแร่ ซึ่งกระบวนการผลิตปล่อยแก๊ซเรือนกระจกมากกว่าการผลิตพลาสติกอย่างมหาศาล และยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันในมุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความคุ้มค่าในการเปลี่ยนมาใช้
จากการรับรู้ข้อมูลข้างต้นทั้งหมด จะเห็นได้ว่าปัจจุบันยังไม่มีทางเลือกไหนที่ดีเต็มร้อยโดยไม่มีข้อเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทางสมดุลได้ทำการประเมินผลกระทบโดยกว้างและพยายามให้ครอบคลุมทุกปัจจัยที่สุด ทำให้เราค้นพบว่าวัสดุทุกชนิดไม่ได้ก่อผลกระทบในระดับเดียวกันในทุกพื้นที่ ไม่สามารถถูกตัดสินได้เหมือนกัน และมักจะเป็นไปตามระบบการจัดการขยะของพื้นที่นั้นๆ
เราค้นพบว่าระบบการจัดการขยะในชุมชนรอบๆโครงการและน่ารวมไปถึงเกือบทั้งจังหวัด ถ้าไม่โดนแยกขายโดยพนักงานเก็บขยะเทศบาลหรือผู้ประกอบการเอง จะนำไปสู่การฝังกลบโดยเทศบาล หรือเผากำจัดเองตามบ้านเรื่องซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และหลายส่วนที่ตกหล่นโดยบังเอิญหรือถูกทิ้งอย่างมักง่ายโดยตั้งใจมักจะปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำที่มีอยู่มากมายในจังหวัดและสามารถออกไปสู่ทะเลโดยง่าย และด้วยที่ทางเราใช้บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง (Single use) เฉพาะในเครื่องดื่มกลับบ้านหรือเมื่อแก้วล้างไม่ทันเท่านั้น รวมถึงสนับสนุนให้มีการใช้ซ้ำอย่างสม่ำเสมอ และมีจุดเติมน้ำฟรีให้ทุกผู้เยี่ยมเยือน เราจึงตัดสินใจเปลี่ยนจากการใช้แก้วพลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพประเภทPLA เป็นกระป๋องอลูมิเนียมบรรจุสด (และเข้าเครื่องปิดฝาก่อนเสิร์ฟ) ทั้งนี้เนื่องจากอายุการจัดเก็บที่นานกว่า (ไม่เปราะแตกก่อนใช้หมด) และการจัดการในชุมชนที่ดีกว่า
สุดท้ายนี้การใช้ช้ำ เช่นการพกขวดพกแก้วมาเองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เมื่อทุกคนพร้อมกันร่วมมือจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลกับอนาคตของสังคมมนุษย์ หากแต่เราเชื่อว่าเมื่อถึงจุดที่ไม่มีทางเลือกที่ดีเลิศ แต่มีที่ดีกว่าทางที่เป็นอยู่ เราจำเป็นตั้งตัวเลือกที่แย่น้อยสุดบนพื้นฐานข้อมูลที่ครอบคลุมในช่วงเวลาปัจจุบัน (เนื่องจากทางเลือกที่ดีของต่างคนต่างบริบทพื้นที่อาจต่างกัน) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนที่ดีขึ้น
Reference:
Chula Zero Waste, April 2019, ข้อเท็จจริง “พลาสติกย่อยสลายได้ในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ” (Environmentally Degradable Plastics: EDP), Web resources from: www.chulazerowaste.chula.ac.th/the-fact-of-environmentally-degradable-plastics-edp/ (October, 2022)
Waterhouse, October 2019, BIO-PET ขวดน้ำดื่มผลิตจากวัสดุธรรมชาติสูงสุด 30%, web resources from: https://waterhouse-th.com/2019/10/02/bio-pet/ (October, 2022)